กรุสำหรับ สิงหาคม 29, 2009

ศาสนายิว หรือ ยูดาห์ หรือยูดาย

สัญลักษณ์ศาสนา

      เครื่องหมายเดิมคือ ราวเทียนหรือกิ่งเทียน 7 กิ่ง แต่ปัจจุบันใช้รูปสามเหลี่ยมซ้อนกัน 2 รูปเป็นดาว 6 แฉก ซึ่งเป็นเครื่องหมายประจำของกษัตริย์ดาวิด และเป็นเครื่องหมายในผืนธงชาติของอิสราเอลด้วย

ประเภทของศาสนายิว

      ศาสนาเอกเทวนิยม นับถือพระเจ้าองค์เดียวคือ พระยะโฮวา

 

ศาสดา

     โมเสส

 

วันเดือนปีกำเนิดศาสนา

       เกิดก่อน ค.ศ. ประมาณ 1,200 ถึง 1,500 ปี หรือก่อน พ.ศ. ประมาณ 657 ถึง 957 ปี คิดตามสมัยของโมเสส

 

สถานที่กำเนิดศาสนา

       ปาเลสไตน์ หรือประเทศอิสราเอลในปัจจุบัน

 

เหตุเกิดศาสนา

        ศาสนายิวเป็นศาสนาของชนชาติยิว ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากพวกเสมิติกที่แยกมาจากภาคเหนือของทวีปเอเชียและได้แพร่ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในปาเลสไตน์ ต่อมาพวกฮีบรูบางพวกได้ตกเป็นเชลยถูกกวาดต้อนไปอยู่ในประเทศอียิปต์ แต่ทนการกดขี่ข่มเหงจากพวกอียิปต์ไม่ไหว จึงพากันหลบหนีข้ามทะเลแดงไปรวมกันอยู่ในประเทศปาเลสไตน์อีก ดินแดนนี้มีชนชาติคานาอันหรือคานาไนต์อาศัยอยู่ พวกคานาอันเรียกพวกที่เข้ามาใหม่ว่า “ฮีบรู” แต่เพราะพวกยิวแสดงตัวว่าเป็นผู้มาดี พวกคานาจึงไม่รับเกียจ พวกฮีบรูมีหัวหน้าคนหนึ่งชื่อว่า “ยาขอบ” แต่เวลาทำพิธีทางศาสนาจะเรียกตัวเองว่า “อิสราเอล”

            พวกยิวสืบเชื้อสายทางศาสนามาจากพวกคานาอัน ซึ่งนับถือพระเจ้าองค์เดียว คือ “พระยะโฮวา” พวกยิวก็ นับถือพระยะโฮวาด้วย แต่ต่อมายังได้นับถือพระเจ้าของคานาอันอีกองค์หนึ่งด้วย คือ “พระเจ้าอาฮีรา” แต่ในที่สุดก็เลิกนับถือพระเจ้าอาฮีรา คงเหลือแต่พระยะโฮวาองค์เดียว แต่พวกยิวยังถูกข่มเหงรังแกจากพวกอียิปต์อีก ครั้งนี้เกือบทำให้พวกยิวเลิกนับถือพระยะโฮวา แต่ได้อาศัยโมเสสซึ่งเป็นต้นกำเนิดศาสนายิว ได้ชี้แจงจูงใจและหว่านล้อมให้ชนชาวยิวนับถือพระยะโฮวาอย่างมั่นคงเหมือนเดิม หลังจากที่ได้เข้าไปอาศัยอยู่ในดินแดนปาเลสไตน์

 

จำนวนผู้นับถือศาสนา

       ประมาณ 14,000,000 คน (ปี ค.ศ.2002)

วิธีปฏิบัติในศาสนา

        การปฏิบัติโดยแสดงความจงรักภักดีและบูชาในพระยะโฮวา ปฏิบัติตามเทวโองการผ่านโมเสส และถือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ซึ่งระบุไว้ในพระคัมภีร์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยควบคุมชีวิตมนุษย์ให้อยู่ใน ความบริสุทธิ์ตามประสงค์ของพระเจ้า

     ชาวยิวต้องดำรงชีวิตในความบริสุทธิ์ ตามหลักปฏิบัติว่าด้วยสิทธิ 6 ประการ คือ

1.สิทธิในการครอบครองชีวิต

2.สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน

3.สิทธิเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ

4.สิทธิเกี่ยวกับการแต่งกาย

5.สิทธิเกี่ยวกับการตั้งบ้านที่อยู่อาศัย

6.สิทธิแห่งบุคคลซึ่งรวมถึงสิทธิในการพักผ่อนและเสรีภาพส่วนบุคคล

 

หลักธรรม

           หลักธรรมคำสอนที่สำคัญของศาสนายิว ที่นับว่ามีความสำคัญและชาวยิวใช้หลักคำสอนตามที่พระเจ้าสั่งหรือแจ้งลงมา ทางโมเสสเป็นหลัก ดังนี้

บัญญัติ 10 ประการ

1. อย่าได้มีพระเจ้าอื่นต่อหน้าเรา (พระยะโฮวา) เลย

2. อย่าทำรูปเคารพสำหรับตน เป็นสัณฐานรูปสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งมีอยู่ในฟ้าอากาศเบื้องต้น หรือซึ่งมีอยู่ที่แผ่นดินเบื้องล่าง หรือซึ่งมีอยู่ใต้แผ่นดิน อย่ากราบไหว้ หรือปฏิบัติรูปเหล่านั้น ด้วยเรายะโฮวาพระเจ้าของเจ้า เป็นพระเจ้าหวงแหน ให้โทษของบิดาที่ชังเรา (ยะโฮวา) นั้น ติดเนื่องจนถึงลูกหลานกระทั่งสามสี่ชั่วอายุคน แต่แสดงความกรุณาแก่ผู้รักเราและรักษาบัญญัติของเราถึงหลายพันชั่วอายุคน

3. อย่าออกนามยะโฮวา พระเจ้าของเจ้าเปล่าๆ ด้วยผู้ที่ออกนามของพระองค์เล่นเปล่าๆ นั้น ยะโฮวาจะไม่ปรับโทษหามิได้

4. จงนับถือวันซะบาโต ถือเป็นวันบริสุทธิ์ตามคำยะโฮวา พระเจ้าของเจ้าได้ตรัสสั่งไว้แก่เจ้า จงทำการงานของเจ้าให้สำเร็จ ในระหว่างหกวัน แต่วันที่เจ็ดนั้น เป็นซะบาโตของยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ในวันนั้นอย่ากระทำการสิ่งใดๆ คือเจ้าเองหรือบุตราบุตรีของเจ้าหรือทาสาทาสีของเจ้า หรือตัวโคของเจ้าหรือตัวลาของเจ้า หรือบรรดาสัตว์ใช้ของเจ้า จงระลึกว่าเจ้าเป็นทาสในประเทศอายฆุปโต (อียิปต์)และยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ได้พาเจ้าออกมาจากที่นั่นด้วยพระหัตถ์อันทรงฤทธิ์ และด้วยพระกรเหยียดออกนั้น เหตุฉะนี้ ยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า ได้บัญชาสั่งให้เจ้ารักษาวันซะบาโตนั้น

5. จงนับถือบิดามารดาของตน ตามคำยะโฮวาตรัสสั่งนั้น เพื่อเจ้าจะมีชีวิตยืนนาน และจำเริญอยู่บนแผ่นดินซึ่งยะโฮวาพระเจ้าของเจ้าประทานให้แก่เจ้า

6. อย่าฆ่าคน

7. อย่าล่วงประเวณี สามีภรรยา

8. อย่าลักทรัพย์

9. อย่าเป็นพยานกล่าวความเท็จต่อเพื่อนบ้าน

10. อย่าโลภภรรยาของเพื่อนบ้าน อย่าโลภเรือนของเพื่อนบ้านหรือไร่นาของเขา หรือทาสาของเขาหรือทาสีของเขาตัวโคหรือตัวลาของเขา หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เป็นของเพื่อนบ้าน

      เกี่ยวกับการสร้างโลกและชีวิตข้อความในพระคัมภีร์เก่ากล่าวว่า เมื่อเดิมพระเจ้าได้นิรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน ดินนั้นก็ว่างเปล่าอยู่ มีความมืดอยู่เหนือฟ้า และพระวิญญาณของพระเจ้าได้ปกครองอยู่เหนือน้ำนั้น พระเจ้าทรงตรัสสั่งให้มีความสว่างเกิดขึ้น พระเจ้าเห็นว่า แสงสว่างนั้นดี จึงได้แยกความสว่างนั้นออกจากความมืด พระเจ้าทรงเรียกความสว่างนั้นว่า “วัน” และทรงเรียกความมืดว่า “ คืน” มีเวลาเย็นและเวลาเช้าเป็นวันที่หนึ่ง

    พระเจ้าก็ทรงตรัสให้มีวันที่ 2-3-4-5-6-7 ตามลำดับ

วันที่ 1 ทรงสร้างกลางวันและกลางคืน

วันที่ 2 ทรงสร้างน้ำ อากาศ และสวรรค์

วันที่ 3 ทรงสร้างแผ่นดิน

วันที่ 4 ทรงสร้างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดวงดาว

วันที่ 5 ทรงสร้างสรรพสัตว์

วันที่ 6 ทรงสร้างมนุษย์

วันที่ 7 คือวันเสาร์ เป็นวันพักผ่อน และมนัสการพระเจ้า

                 ในขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงเนรมิต ฟ้า ดิน โลก สิ่งต่างๆขึ้นมาในโลกรวมทั้งพืชพันธุ์ สัตว์ต่างๆ และมนุษย์ขึ้นไว้ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ด้วยผงคลีดิน ทรงระบายลมแห่งชีวิตเข้าทางจมูก ให้มีชีวิตหายใจเข้าออก มนุษย์จึงเกิดขึ้นเป็นจิตวิญญาณมีชีวิตอยู่ ทรงสร้างมนุษย์เป็นคนแรก เป็นชาย เรียกว่า อดัม และมนุษย์หญิงคนแรก เรียกว่า อีวา อาดัมและอีวา จึงกลายเป็นมนุษย์คนแรกของโลก และเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทั้งปวง

 

      พิธีกรรมในศาสนายิวมีพิธีกรรมที่สำคัญ ดังนี้

1.วันสะบาโต (Sabbath) คือวันที่เจ็ดของสัปดาห์ ถือเป็นวันบริสุทธิ์ห้ามทำกิจกรรมใดๆ ทุกอย่างได้ถือว่าวันนี้เป็นวันพักผ่อน เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้ทำกิจกรรมที่เป็นกุศล เช่น การสวดมนต์อธิษฐานภาวนาการอ่านพระคัมภีร์ และขอบคุณพระเจ้า

2.พิธีปัสคา (Pesach) เป็นพิธีกรรมที่เกิดในสมัยโมเสสเมื่อคืนวันก่อนที่โมเสสจะพาพวกยิวอพยพจาก อียิปต์ พระเจ้าทรงส่งให้พวกยิวฆ่าแกะทำเป็นอาหารรับประทานกับขนมปังที่ไม่มีเชื้อ และต้องรับประทานให้หมดวันเดียว แล้วให้ทุบหม้อไห และเครื่องครัวทั้งหมดแล้วให้เอาเลือดแกะป้ายไว้ที่หน้าประตูเพราะในเวลา กลางคืน พระเจ้าจะส่งฑูตมรณะมาฆ่าทุกคนที่ไม่ใช่ยิว ถ้าประตูหน้าของใครมีเลือดแกะทาอยู่ทูตมรณะจะข้ามไป จึงเรียกว่า “ปัสคา” แปลว่า “ข้ามไป”ชาวยิวฉลองวันนี้ด้วยการเลี้ยงใหญ่ และอธิษฐานขอบคุณพระเจ้าพิธีนี้ใช้เวลา 8 วัน ในวันสุดท้ายมีการฉลองใหญ่และทุกคนก็ร้องขึ้นพร้อมกันว่า “ ปีนี้พบกันที่เยรูซาเลม”

3.พิธีเซเดอร์ (Seder) พิธีเซเดอร์เป็นพิธีเมืองที่สำคัญที่สุดในศาสนายิวกระทำในคืนแรกและคืนที่ สองของพิธีปัสคา ประกอบด้วยการนับวันที่พวกยิวอพยพจากอียิปต์ใหม่ เลี้ยงฉลองในงานรื่นเริงด้วย “คิดดุช” (Kiddush) แล้วอวยพรด้วยการราดเหล้าไวน์บนขยมปังบิดามารดามักจะอวยพรให้กับเด็กๆ

4.วันแห่งการแก้ไข (Day of Atonement) ถือเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันแห่งการแก้ไขความประพฤติ จะทำพิธีในโบสถ์แห่งเยรูซาเลม พระผู้ใหญ่จะเป็นผู้ทำพิธีล้างบาปให้ เมื่อเสร็จพิธีล้างบาปจะมีการเป่าเขาพร้อมกับการยืนยันว่า “เจ้านายของตนคือพระเจ้า” พระจะกล่าวคำขอโทษจากพระเจ้า ทั้งสำหรับตัวเองและชาวอิสราเองทุกคน ดังนั้นวันแห่งการล้างบาปจึงถือว่าเป็นโอกาสดีของผู้ที่ทำผิดแล้วเสียใจใน ความผิดที่ได้ทำลงไป ในเย็นวันนั้นจะมีพิธีกรรมที่เรียกว่า คอลนิดไร (Koi – Nidrei) ทุกคนตั้งสัตย์อธิษฐานเป็นการยกเลิกคำอธิษฐานเดิมที่ได้ทำลงไปแล้วโดยถูก บังคับกดขี่

            นอกจากพิธีดังกล่าวแล้ว ยังมีพิธีอื่นๆ อีกมาก เช่น พิธีฉลองปีใหม่ พิธีฉลองพืชผลในฤดูเก็บเกี่ยวในพิธีกรรมสังเวยบูชาพระเจ้านั้นชาวยิวใช้พืชผลหัวเครื่องหมอบ้าง ฆ่ากำแพะสังเวยบ้าง ศูนย์กลางศาสนาของยิวถือกรุงเยรูซาเลม เป็นนครอันศักดิ์สิทธิ์

 

นิกาย

    นิกายในศาสนายิวมี 4 นิกาย คือ

1. นิกายออร์ธอดอกซ์ (Orthodox) นับถือศาสนาเป็นแบบประเพณีนิยม มีมุขนายกเป็นหัวหน้าเน้นความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์โทราห์ และกฏหมายทัลมุดอย่างเคร่งครัดตามตัวอักษรถือวินัยข้อบังคับ 613 ข้อ รักษาชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ จำกัดอาหารบางประเภทพยายามดำรงชีวิตอยู่อย่างบรรพบุรุษทุกประการ ไม่เปลี่ยนแปลงประเพณีโบราณ ถือว่าประเทศอิสราเอลเป็นแผ่นดินสัญญาและมาตุภูมิของตนที่พระเจ้าได้ทรง ประทานแล้ว

2. นิกายปฏิรูป (Reform) ส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนสมัยใหม่ ถือว่าพระคัมภีร์และกฎหมายรวมทั้งประเพณีต่างๆ ย่อมเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุงได้ แปลคัมภีร์ออกเป็นภาษาพื้นเมืองและภาษาต่างๆ ได้ และตีความให้เข้ากับกาลสมัย ยกเลิกข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติโบราณที่ขัดแย้งกับชีวิตสมัยใหม่ ย่นย่อพิธีกรรมให้กะทัดรัด เลิกพิธีสังเวยบูชาสมัยโบราณและการร้องเพลงในโบสถ์ ไม่เชื่อในการเสด็จมาของพระเมสิอาห์และการสร้างประเทศอิสราเอลใหม่เพราะถือ ว่าประเทศที่ตนเกิดก็คือมาตุภูมิของตน

3. นิกายคอนเซอร์เวตีฟ (Conservative) เป็นนิกายที่พยายามเดินทางสายกลางระหว่างนิกายแรก กล่าวคือ ถือว่าศาสนายิวเป็นแก่นสำคัญของชีวิตชาวยิวทุกคน รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณไว้ให้มากที่สุด ส่วนใดล้าสมัยก็ค่อยๆ ปรับปรุงแก้ไขภายในกรอบของกฎหมาย

4. นิกายรีคอนสตรักชั่น (Reconstructionism) เป็นนิกายที่แยกตัวจากนิกายคอนเซอร์เวตีฟ ระหว่าง ค.ศ. 1920–40 ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาลัทธิปฏิบัตินิยม (Pragmatism) ลัทธิธรรมชาตินิยม (Naturalism) ของสหรัฐอเมริกา เป็นพวกหัวรุนแรงถืออิสระเสรีในการนับถือศาสนา และอนุโลมให้ปรับปรุงแก้ไขศาสนาให้เข้ากับชีวิตสมัยใหม่ได้

Credit : http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel10p1.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel10p2.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel10p3.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel10p4.htm

ศาสนาซิกข์

Posted: สิงหาคม 29, 2009 in Uncategorized

ศาสนาซิกข์

สัญลักษณ์ศาสนา

      คันด้า คือสัญลักษณ์ของศาสนาสิข ประกอบด้วย กีรปาน (ดาบของชาวสิข) สองด้าม ,คันด้าตรงกลางหนึ่งอัน (ดาบลักษณะสองคม) และวงจักร (ห่วงกลม) กลมภายในหนึ่งห่วง
     ดามทั้งสองด้าม แสดงถึงความมีอำนาจอธิปไตย ทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างสมบูรณ์
     วงจักร แสดงถึงความเป็นอมตะ หนึ่งเดียวของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสร้าง ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่ง
     ดาบสองคม แสดงถึงความเป็นผู้ริเริ่ม

ประเภทของศาสนา   
         เป็นศาสนาประเภทเอกเทวนิยม (Monotheism) คือ ยึดมั่นและเชื่อถือในพระเจ้าพระองค์เดียว ทรงพระนามว่า วาเฮคุรุ พระองค์ไม่มีลักษณะเหมือนคน ทรงเป็นสัตยเทพ ทรงความเป็นเอก เป็นอนันตะ เป็นวิภูเทพ เกิดเอง ทรงสถิตอยู่ทั่วไป ทรงมีพระกรุณาในสรรพสัตว์เท่ากัน

          ศาสนาซิกข์ หรือ ศาสนาสิกข์ (ปัญจาบ: ਸਿੱਖੀ, สัท.: [ˈsɪkːʰiː] (ข้อมูล)) เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในตอนเหนือของอินเดีย จากคำสอนของ นานัก และคุรุผู้สืบทอดอีก 9 องค์ หลักปรัชญาของศาสนาซิกข์และการปฏิบัติตามหลักศาสนา นิยมเรียกว่า “คุรมัต” (ความหมายโดยพยัญชนะ หมายถึง “คำสอนของคุรุ” หรือ “ธรรมของซิกข์”)

          คำว่า “ซิกข์” หรือ “สิกข์” มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ศิษฺย” หมายถึง ศิษย์ ผู้เรียน หรือ “ศิกฺษ” หมายถึง การเรียน และภาษาบาลีว่า “สิกฺข” หรือ “สิกฺขา” หมายถึง การศึกษา ผู้ศึกษา หรือผู้ใฝ่เรียนรู้

          หลักความเชื่อของศาสนาซิกข์ คือ ศรัทธาในพระเจ้าองค์ เดียว คือ “วาหคุรู” ปฏิบัติสมาธิในนามของพระเจ้า และโองการของพระเจ้า ศาสนิกชาวซิกข์จะนับถือหลักคำสอนของคุรุซิกข์ทั้ง 10 หรือผู้นำผู้รู้แจ้ง และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า “คุรุ ครันถ์ สาหิพ” ซึ่งเป็นบทคัดสรรจากผู้เขียนมากมาย จากภูมิหลังทางศาสนา และเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย คัมภีร์ของศาสนาเป็นบัญญัติของคุรุ โคพินท์ สิงห์ คุรุองค์สุดท้ายแห่งขาลสา ปันถ (Khalsa Panth) การสอนและหลักปฏิบัติของศาสนาซิกข์มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของภูมิภาคปัญจาบในลักษณะต่างๆ กัน

          ศาสนาซิกข์นับเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาซิกข์มากกว่า 23 ล้านคนทั่วไป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐปัญจาบ ของอินเดีย

 

ศาสดา   
     มีศาสดา 10 องค์ ศาสดาองค์แรกชื่อท่านคุรุนานัก

วันเดือนปีกำเนิดศาสนา    
     เกิดประมาณ ค.ศ. 1469 หรือประมาณ พ.ศ. 2012 คิดตามปีเกิดของคุรุนานัก

สถานที่กำเนิดศาสนา    
     ประเทศอินเดียตอนเหนือ แถวมณฑลปัญจาบ
เหตุเกิดศาสนา     
     ศาสนานี้เกิดขึ้นเพราะต้องการรวมศาสนา คือรวมศาสนาอิสลามกับฮินดู แต่ไม่สำเร็จกลับเกิดมีศาสนาสิขนี้ขึ้น ในสมัยที่เกิดศาสนานี้เป็นสมัยที่อิสลามกำลังมีอำนาจในอินเดีย เกิดต่อสู้ล้มตายกันทั่วไป เพราะฝ่ายผู้มีอำนาจสู้กับฝ่ายต่อต้าน ผู้เป็นปฐมศาสดาของศาสนานี้เกิดความสลดใจใคร่จะรวมศาสนาเพื่อประสานความร้าวฉานระหว่างพวกฮินดูกับพวกมุสลิม

จำนวนผู้นับถือศาสนา    
       ประมาณ 23,000,000 คน (ปี ค.ศ.2002)

 นิกายในศาสนาซิกข์

          นิกายของศาสนาสิขมีหลายนิกาย ไม่อาจแบ่งได้ชัดเจน แต่มีนิกายที่สำคัญ ๆ 2 นิกาย คือ

   1.นิกายนานักปันถิ แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามธรรมของท่านคุรุนานัก (ศาสดาองค์แรก) ผู้นับถือนิกายนี้จะไม่เข้าปาหุล หรือล้างบาป และไม่รับ “ก” ทั้ง 5 ประการ

   2.นิกายขาลุสา แปลว่า นักพรตผู้ปราศจากมลทิน บางแห่งเรียกนิกายนี้ว่า “นิกายนิลิมเล” หรือ “นิกายสิงห์” ผ้นับถือนิกายนี้จะดำเนินตามคำสอนของท่านคุรุโควินทร์สิงห์ (ศาสดาองค์ที่ 10) โดยเฉพาะในเรื่องปาหุล หรือล้างชำละล้างบาป ให้ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ (ขาลุสา) และเมื่อรับ “ก” ทั้ง 5 แล้วก็ใช้นามสิงห์ต่อท้ายได้

   นอกจากนี้ ยังมีนิกายแยกย่อยอีกมากมาย เช่น
     – นิกายอุทาสี หมายความว่า ผู้วางเฉยต่อโลก
     – นิกายสุธเร คือ นักพรตผู้บริสุทธิ์
     – นิกายทิวเนสาธุ หมายถึง นักบุญผู้เมา (ในพระเจ้า)
     – นิกายนิริมเลสาธุ หมายถึง นักบุญผู้ไม่มีมลทิน
     – นิกายอากาลี คือ ผู้บูชาพระผู้เป็นเจ้านิรันดร ได้แก่พวกโพกผ้าแหวกกลาง กินเนื้ออย่างอื่นได้ เว้นแต่เนื้อโค นับถือคัมภีร์อาทิครันถะ
     – นิกายนามธารี แปลว่า ผู้ทรงไว้ หรือผู้เทิดทูนพระนามของพระเจ้า หรือผู้มั่นอยู่ในนามของพระเจ้า ผู้นับถือนิกายนี้จะโพกผ้าไม่แหวกกลาง ไม่กินเนื้อทุกชนิด ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มของมึนเมา ถือว่าคุรุของศาสนาสิขมีต่อจากศาสดาองค์ที่10 มาทุกระยะ (ต่างไปจากนิกายอื่นที่ถือว่า คุรุผู้เป็นศาสดาของศาสนาสิขมีเพียง 10 องค์ เท่านั้น และไม่มีคุรุสืบต่ออีก แต่จะนับถือพระคัมภีร์ครันถสาหิพ เป็นศาสดาแทน)

นิกาย ซิกข์-นามธารี
           นามธารี (Namdhari) เป็นนิกายหนึ่งของศาสนาซิกข์ (Sikh) ศาสนาซิกข์นั้นเป็นศาสนาซึ่งมีชื่อตามลักษณะคำสอนของศาสนา เพราะคำว่า “ซิกข์” (Sikh) มีรากศัพท์มาจากคำว่า “สิข” เป็นภาษาปัญจาบีซึ่งเป็นภาษาหลักของศาสนา ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า “สิกขา” หรือในภาษาสันสกฤตตรงกับคำว่า “ศิษย์” ซึ่งหมายถึง ผู้ศึกษา ผู้ใฝ่เรียน ลูกศิษย์หรือสาวก ดังนั้น ทุกคนจึงเป็นศิษย์ของครู หรือ “คุรุ” (Guru) ซึ่งหมายถึงองค์พระศาสดา และการเข้าถึงหลักการของศาสนาจะต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือครูเท่านั้น จึงทำให้ต้องมี “คุรุ” สืบต่อมาโดยตลอดไม่ขาดช่วงจนถึงปัจจุบัน

 

          นามธารี แปลว่า ผู้ซึ่งเทิดทูนธำรงค์รักษาให้ทรงไว้ซึ่งพระนามของพระผู้เป็นเจ้า หรือผู้ยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้า (“นาม” หมายถึง พระนามของพระผู้เป็นเจ้า ส่วน “ธารี” หมายถึงการธำรงค์รักษา) จึงกล่าวได้ว่า ชาวซิกข์-นามธารี คือผู้ที่มีความรัก เชื่อถือศรัทธา และยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ เสมือนอาจารย์ผู้สั่งสอนศิษย์ เพราะชาวซิกข์-นามธารีเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนต้องได้รับการศึกษาวิชา ต่างๆ จากครูบาอาจารย์เสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องของการดำเนินชีวิต และการแสวงหาหนทางสู่ความหลุดพ้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีครูผู้นำทางชีวิตทั้งสิ้น ศาสนิกชนชาวซิกข์-นามธารีทุกคนในฐานะ “ศิษย์” จึงต้องมี “ครู” เพื่อชี้นำแนะแนวเส้นทางการดำเนินชีวิตให้ถึงจุดหมายเสมอตลอดอายุขัย และการเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าจะสำเร็จได้ก็ย่อมต้องผ่านทาง “คุรุ” หรือองค์พระศาสดาผู้เทิดทูน และยึดมั่นในพระนามของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

 

หลักธรรม     

     หลักธรรมคือ ให้จงรักภักดีต่อพระเจ้าอย่างที่สุดและให้ถือว่าทุกคนเป็นพี่น้องกัน ศาสนานี้สอนให้มีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ รวมไปถึงสัตว์ด้วย เว้นการกินเนื้อสัตว์ ทรมานสัตว์ ให้บำเพ็ญทาน อดทนเพื่อทำกิจอันเป็นประโยชน์ ต้องปฏิบัติตนให้ถึงความบริสุทธิ์ ให้สามารถรวมเข้ากับภาวะของพระเจ้า ถ้ายังไม่ถึงก็ใช้กรรมไปก่อน การเกิดใหม่มีจริง ผู้ใดทำกรรมใดไว้ ผู้นั้นต้องรับสนองเช่นนั้น พระเจ้าทรงสร้างคนให้มีทั้งคนดีและคนชั่ว แต่คนชั่วนั้นตายไปแล้วจะไม่กลับมาเกิดเป็นคน จะไปเกิดเป็นสัตว์ คนจะเข้าถึงพระเจ้าทีเดียวไม่ได้ ต้องเข้าหาคุรุ คือปฏิบัติตามคำสอนของพระเจ้าด้วยการศึกษาคุรุหรือศึกษาชีวิตของคุรุ เพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับปฏิบัติ คุรุนานักสอนว่า ศาสนานี้มิได้ขึ้นอยู่กับจีวรปะอย่างโยคี ไม้เท้าอย่างฤษี เถ้าถ่านอย่างดาบส และมิได้ขึ้นอยู่กับการเป่าสังข์ ผู้ปรารถนาจะเห็นความบริสุทธิ์ จะต้องอยู่ท่ามกลางบาป แต่ทำตัวให้พ้นบาป
     ศาสนาสิขสอนว่า ที่มาแห่งความชั่วนั้นมิใช่อื่นไกล ที่แท้ก็คือ “อหังการ” หรือความรู้สึกยึดถือตัวตน
ซึ่งพระเจ้าได้ใส่ไว้ให้ดวงจิตนั่นเอง เมื่อเรายอมรับตัวเองต่อพระประสงค์ของพระเจ้า อหังการนั้นก็กลายเป็นพรแทนความสาปแช่ง คนเราไม่ควรมีความรู้สึกเรื่องอหังการจนเกินไป เพราะเมื่ออหังการมีมาก ก็จะกลายเป็นเครื่องกั้นระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า มนุษย์ก็จะท่องเที่ยวจากบาปอย่างหนึ่งไปสู่บาปอย่างอื่น
     ศาสนาสิขสอนให้ประกอบกรรมดี เพราะ “คนเราจะใกล้กับพระเจ้าโดยอธิบายว่า นิรฺวาณนั้นอันบุคลอาจบรรลุได้ด้วยการเพ่งพระเจ้า มีความจงรักภักดีและศรัทธา เปล่งวาจาอยู่เสมอถึงพระนามของพระองค์ และโดยการปฏิบัติตามคำสั่งสอนของคุรุหรือศาสดาแห่งศาสนานั้น”
     ชาวสิขเชื่อว่าวิญญาณของคุรุหรือศาสดา จะอยู่กับพวกเขาเสมอ และช่วยให้ที่ประชุมได้รับความบริสุทธิ์สะอาด “คุรุเป็นสิข และสิขเป็นผู้ปฏิบัติตามถ้อยคำของคุรุย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับคุรุ”
     ที่นั่งของคุรุต่ำกว่าพระคัมภีร์ทางศาสนา หมายความว่า จะประดิษฐานคัมภีร์ไว้ในที่สูงเสมอ”
     คำสอนที่เป็นมูลฐานอย่างสำคัญของศาสนาสิข คือความเป็นหนึ่งของพระเจ้า และความเป็นเพื่อนกันของมนุษย์ ความรัก พระเจ้าและรักคุรุคือศาสดาทางศาสนา อุดมคติอันสูงสุดมิใช่เพื่อได้ไปอยู่ในสวรรค์ แต่
เพื่อได้ไปอยู่ในสวรรค์ เพื่อพัฒนาสาระสำคัญที่มีอยู่ในตัวคนเพื่อให้คนผู้นั้นหลอมตัวเข้าเป็นอันเดียวกับพระเจ้า
     “จงลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ ทำจิตใจของท่านให้เต็มไปด้วยความรักในพระเจ้า จงให้ทานเสมอ จงพูดคำสุภาพอ่อนโยน จงถ่อมตน จงทำดีต่อผู้อื่น อย่ากินหรือนอนให้มากเกินไป จงใช้จ่ายเฉพาะส่วนที่ท่านหามาได้ด้วยมือของท่านเอง กลางคืนและกลางวันจงพยายามอยู่กับคนดี จงร่วมกับคนเหล่านั้นสวดบทสรรเสริญของคุรุ” (จากหนังสือเตชสิงห์)

   ศีล คุรุโควินทสิงห์ตั้งกฎไว้อย่างหนึ่ง เรียกว่า ศีล 5 อันขึ้นต้นด้วยอักษร ก. คือ
       1. เกศา คือ เอาไว้ ผม หนวด เครา โกนตัดไม่ได้
       2. กุงคา (กังฆา) มีหวีสับผมเสมอ ขาดไม่ได้
       3. กรัท ต้องมีดพกประจำตัว (บางแห่งเป็นกะระ คือ มีกำไลเหล็กสวมข้อมือ)
       4. กริปาน มีดาบประจำตัว
       5. กัจฉา นุ่งกางเกงในประจำ
   และมีรหัสอีก 4 คือ
       1. ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มน้ำเมา
       2. ไม่บริโภคเนื้ออย่างอิสลาม
       3. ไม่ตัดผม ไม่โกนหนวด
       4. ไม่แต่งงาน ไม่ร่วมประเพณีกับมุสลิม

 

วิธีปฏิบัติในศาสนา    
      คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือไตรเอกานุภาพ มี 3 คือ
                นิกายขาลฺสา  ชาวสิขนิกายขาลฺสาจะได้รับให้เข้าสู่สังคมของ “สิข” ได้ ก็เมื่อได้ทำพิธี “ปาหุล” เมื่อทำพิธีล้างบาปแล้ว ก็จะรับสิ่งที่มีชื่อเป็นอักษร “ก” 5 ประการ คือ เกศา(การไว้ผมยาวโดยไม่ตัดเลย) กังฆา(หวีขนาดเล็ก) กฉา (กางเกงขาสั้น) กรา(กำไลมือทำด้วยเหล็ก) และ กิรฺปาน(ดาป) ผู้ที่ล้างบาปแล้วจะได้นาม “สิงห์” ซึ่งแปลว่าสิงโต หรือราชสีห์ ต่อท้ายชื่อเหมือนกันทุกคน เพราะถือว่าผ่าน “ชาลสา” แห่ง “วาหิคุรุ” คือความเป็นสมบัติของพระเจ้าเองแล้ว การล้างบาปและรับเอาอักษร ก. ทั้ง 5 เพื่อเป็นชาวสิขโดยสมบูรณ์นั้น มามีขึ้นภายหลังในสมัยของคุรุโควินทสิงห์ ซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาสิข หลังสมัยของศาสดาองค์แรก 133 ถึง 169 ปี
      หลักประจำชีวิต หลักหรือศีลอีกส่วนหนึ่งที่ศาสดาในศาสนานี้ให้ศิษย์รับสัตย์ปฏิญาณเป็นหลักปฏิบัติประจำชีวิต มี 21 ข้อคือ

        ก. ข้อปฏิบัติ

      1. ให้นับถือศาสดาเป็นพ่อ
      2. ให้ถือว่าเมืองปาตลีบุตร (ปัตนาในปัจจุบัน) ที่โควินทสิงห์เกิด กับเมืองอานันทบุร
          (ที่ท่านโควินทสิงห์หลบไปตั้งหลักสู้กับออรังเซบเมื่อครั้งรบแพ้) เป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์
      3. ให้ยกเลิกการถือชั้นวรรณะ
      4. ให้สละชีพในสนามรบ
      5. ให้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 3 ประการ คือ
             (1) สัจจะ (พระเจ้า) ศรี (ธรรม) อกาล (คือความเที่ยงแท้ของพระเจ้า)
             (2) ศาสโนวาท (คัมภีร์อาทิครันถและทัสเวนปาทษาหิ)
             (3) ความบริสุทธิ์
      6. มีศีลอันเป็นสัญลักษณ์ 5 คือ เกศา กุงฆา กัจฉา กฤปาน (กริปาน) กรัท (กะระหรือกะทา)
          พวกสิขที่อยู่ในต่างประเทศต้องมีมีดเล็กยาว 2 นิ้วเสียบไว้ที่ผม
      7. ให้มีชื่อลงท้ายว่าสิงห์ (ถือให้กล้าหาญดังสิงโต)
      8. ให้ฝึกขี่ม้า ฟันดาบ มวยปล้ำ เป็นนิตย์
      9. ให้ถือคติว่า ตนเกิดมาเพื่อช่วยเหลือเปลื้องทุกข์ให้ผู้อื่น
      10. ให้นอบน้อมพระเจ้า และต้อนรับเขาโดยถือเป็นเรื่องจำเป็น

       ข. ข้อห้าม

      1. ห้ามมิให้สิขกับสิขวิวาทกัน
      2. ห้ามพูดปด
      3. ห้ามทำผิดในกาม โลภ โกรธ หลง
      4 ห้ามคบคนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนา
      5. ห้ามคบคนที่ไม่ส่งเสริมการกู้ชาติ
      6. ห้ามนิยมใช้สีแดง เช่น เสื้อ หมวกแดง (อิสลามนิกายชิอะห์ใช้หมวกแดง)
      7. ห้ามเปลือยศีรษะนอกจากเวลาอาบน้ำ
      8. ห้ามเล่นการพนัน
      9. ห้ามตัดผม โกนผม หนวด ขน เครา
      10. ห้ามเกี่ยวข้องกับคนที่เบียดเบียนชาติศาสนา
      11. ห้ามแต่งกายหรูหราไร้สาระ
      คำที่ภาวนาจนขึ้นใจของชาวสิข คือ “วาเฮคุรุ คุรุมนฺตฺร ไฮ ชปฺ เฮาไม โคอี” แปลว่า เมื่อท่องมนต์ วาเฮคุรุ อันเป็นคุรุมนตร ย่อมกำจัด มมังการ ออกได้

   คำนี้ใช้บริกรรมด้วย ชัป คือ การบริกรรม จะได้ผลต้องเว้นสิ่งที่ควรเว้น 5 คือ
      1. กินเกินหิว
      2. หลับเกินง่วง
      3. เกียจคร้าน
      4. ฟุ้งซ่าน
      5. หลับน้อยเกินไป
   สิ่งที่ควรเจริญ 7 คือ
      1. เลือกสถานที่สะอาด
      2. ร่างกายสะอาด
      3. ไม่พูดไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น
      4. เข้าใจบทบริกรรม
      5. ตั้งใจเป็นสมาธิ
      6. ปฏิบัติตน (บริกรรม) เป็นนิตย์
      7. ทำชป? คือ บริกรรมในอมฤตเวลา คือ ยามท้ายของราตรี ได้แก่ 3 – 6 น.
   นัยบริกรรม การบริกรรมจะเลือกบทบริกรรม 3 วาทนี้ คือ
      1. คุรุวาณี คือ ข้อความในพระคัมภีร์
      2. มูลมันตร มนต์ที่เป็นดั้งเดิมหรือพื้นฐาน
      3. ออกพระนามว่า วาเฮคุรุ

    นิกายนานักปันถิ  ชยึดหลักของศาสดาองค์แรกคือคุรุนานักเป็นสำคัญ ซึ่งได้นามอีกอย่างหนึ่งว่า “ชาวสิขผู้ดำรงชีวิตง่ายๆ” ไม่ต้องทำพิธีกรรมอะไรมากนัก ชาวสิขกลุ่มนี้พอใจอุดมคติแบบสงบของคุรุนานัก จึงมิได้อนุโลมตามกฏเกณฑ์ของศาสดาองค์หลังแต่ก็มีผู้กล่าวว่าสิขพวกนานักปันถินี้ มีความโน้มเอียงที่จะถูกศาสนาฮินดูกลืนไปในที่สุด
    ความจงรักภักดีต่อพระเจ้า ถือว่าเป็นสำคัญในศาสนาสิข หนังสือบางเล่มเล่าว่า ชาวสิขจะตื่นแต่เช้า ประมาณ 3.00 น. ภายหลังที่อาบน้ำ และเพ่งพระนามพระเจ้า เสร็จแล้วก็จะสวดบทประพันธ์ของคุรุทั้งหลายในฐานะที่เป็นบทสวดประจำวัน

 

Credit :  http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%82%E0%B9%8C
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B5

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel3p1.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel3p4.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel3p3.htm

http://www.religions.mbu.ac.th/html/part2/rel3p2.htm